ประวัติและความเป็นมา
ประวัติและความเป็นมา
ภาควิชาบริหารเทคนิคศึกษา จัดตั้งขึ้นตามแผนพัฒนาและขยายการศึกษาของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาอุดมศึกษาที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) โดยเปิดรับนักศึกษาหลักสูตรระดับปริญญาโท สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษาเป็นรุ่นแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโท รอบเช้า และในปี พ.ศ. 2532 ถึงปัจจุบัน ได้เพิ่มจำนวนการเปิดรับนักศึกษาปริญญาโทรอบค่ำด้วย ต่อมาในปีการศึกษา 2534 ได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร รุ่นแรก (รอบเช้า) และเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาเอก สาขาวิชาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษาในปีการศึกษา 2540
การดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนในช่วง พ.ศ. 2530-2552 ภาควิชาบริหารเทคนิคศึกษา ได้ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง โดยการรับผู้บริหารจากหน่วยงานเหล่านั้น อาทิ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สำนักงานบริหารคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเข้าศึกษาในหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา (ความร่วมมือ)
ปัจจุบัน ภาควิชาบริหารเทคนิคศึกษาเปิดสอนระดับปริญญาโท 1 หลักสูตร คือ ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต (ค.อ.ม.) สาขาวิชาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา และระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ป.ร.ด.) สาขาวิชาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา
ปรัชญาและปณิธาน
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมยึดถือปรัชญาตามที่สถาบันกำหนดไว้คือ “พัฒนาคน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” และคณะฯมีปณิธาน การใช้ การสรา้ง และการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นผู้รู้จริง ทำได้จริง มีคุณธรรม จริยธรรม และรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งพัฒนางานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมและเทคโนโลยีชั้นนำ เพื่อรับใช้สังคม
วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ต้นแบบผลิตครูช่าง ควบคู่จรรณยาบรรณ สร้างสรรค์งานวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยี มุ่งสู่สากล
วัตถุประสงค์ของภาควิชา
- เพื่อผลิตบัณฑิตในระดับสูงกว่าปริญญาตรีด้านการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการอาชีวะและเทคนิคศึกษา การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพ
- เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารและคณะครู-อาจารย์ ในสาขาอาชีวะและเทคนิคศึกษา ได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และความสามารถในทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทางการศึกษา รวมทั้งการถ่ายโอนการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างเหมาะสม
- เพื่อส่งเสริมการวิจัยด้านอาชีวศึกษาและเทคนิคศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพ
ข้อมูลภาควิชา
จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาจนถึงปัจจุบัน 2018
- ป.โท TEM สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา 1120 คน
- ป.โท G-TEM สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา 12 คน
- ป.เอก DRD สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร 43 คน
- ป.เอก DVTM สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา 5 คน
- ป.เอก G-DVTM สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา 19 คน
- ป.เอก G-DRD สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร 24 คน
- ป.เอก S-DVTM สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา 5 คน
- ป.เอก DVTM สาขาบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา 37 คน